เนื่องในโอกาสครบรอบสิบปีเหตุการณ์ ‘9/11’ หรือเหตุการณ์ที่เครื่องบินสี่ลำถูกไฮแจ็คโดยกลุ่มก่อการร้าย ให้พุ่งเข้าชนตึกแฝดเวิร์ลดเทรด เซ็นเตอร์ และตึกเพนตากอน ในกรุงนิวยอร์ก และวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2541 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวกว่า 3,000 ราย และความเสียหายทางวัตถุและจิตใจที่มากมายมหาศาล
สิบปีถัดมา ในเดือนพฤษภาคม 2554 หลังจากทางการสหรัฐทำสงครามก่อการร้ายกลุ่มอัลกออิดะห์ในอัฟกานิสถานอย่างยืดเยื้อยาวนาน เนื่องจากเชื่อว่ากลุ่มดังกล่าวเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ 9/11 หน่วยกองทัพพิเศษของสหรัฐ ด้วยความสนับสนุนจากซีไอเอ ก็สามารถจับกุมตัว โอซามา บิน ลาเดนได้ พร้อมทั้งสังหารและนำศพเขาไปทิ้งน้ำอย่างรวดเร็ว
ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าว จะไม่ได้ส่งผลกับประเทศไทยโดยตรงมากนัก หากแต่ ภาณุ อารี หนึ่งในผู้กำกับสารคดีสั้น “O.B.L” รู้สึกว่า หลังจากที่เหตุการณ์ 9/11 เกิดขึ้น ในฐานะที่ตนเองเป็นมุสลิมและอยู่ในยุคร่วมสมัย กลับทำให้เกิดความสับสนและตั้งคำถามในหลายเรื่อง เช่น หลักคำสอนทางศาสนา ความรุนแรง และอัตลักษณ์ของอิสลาม ซึ่งถูกนำเสนอในสื่อกระแสหลักทั้งไทยและเทศแบบตีขลุมเสมอๆ
“หลังจากเหตุการณ์ 9/11 เกิดขึ้น สำหรับคนทั่วไป เขาอาจจะไม่ได้รู้สึกอะไร อาจจะรู้สึกว่า เรื่องก่อการร้ายกับอิสลามเหมือนกับจะเป็นเรื่องเดียวกัน เพียงแค่นั้น แต่สำหรับคนมุสลิมจำนวนมาก เหตุการณ์ดังกล่าวเหมือนกับว่า มันได้สร้าง identity (อัตลักษณ์) แบบหนึ่งขึ้นมา หลายคนอาจจะต้องยอมรับกับข้อกล่าวหา หรือว่าทัศนคติที่ถูกมองเปลี่ยนไปว่ามีความรุนแรง... มันเป็นบททดสอบของมุสลิมหลายๆ คน” ภาณุกล่าว
ภาณุกล่าวว่า ทุกวันนี้ เสียงของมุสลิมสายฮาร์ดไลน์ เช่น โอซามา บิน ลาเดน มักจะมีเสียงที่ดังมาก พูดเมื่อใดก็ส่งผลกระเทือนไปทั่วโลก เช่นเดียวกับมุสลิมสายที่ต่อต้านบิน ลาเดน อย่างไรก็ตาม มุสลิมสายกลาง กลับไม่ค่อยมีพื้นที่ให้แสดงออกหรือเสียงที่ดังเท่าไร เขาจึงอยากให้ภาพยนตร์เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง ที่แสดงตัวตนและความคิดของชาวมุสลิมในอีกด้านที่สังคมอาจไม่ค่อยได้รับรู้มากนัก
ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “O.B.L” เป็นผลงานกำกับโดยสามผู้กำกับรุ่นใหม่ ภาณุ อารี, ก้อง ฤทธิ์ดี และ กวีนิพนธ์ เกตุประสิทธิ์ ที่มีผลงานสารคดีมาแล้วอย่าง “Baby Arabia” ซึ่งสะท้อนผ่านสายตาตัวตนมุสลิมในสังคมสมัยใหม่ได้อย่างน่าสนใจ
ภาณุกล่าวถึงจุดประสงค์ของการทำหนังครั้งนี้ว่า อยากให้เป็นเหมือนหมายเหตุทางประวัติศาสตร์ เพื่อให้ไม่ลืมเหตุการณ์ดังกล่าว และในขณะเดียวกันก็สามารถเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อก้าวไปข้างหน้า และหาทางป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้อีก
“อยากให้หนังเรื่องนี้ เป็นหมายเหตุให้เราได้สะดุดและหยุดคิดถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ และศึกษามัน” ภาณุกล่าวส่งท้าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น