เพื่อความสุขสนุกสนาม กับการชมบล็อก

วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554

มหาตมา คานธี


มหาตมา คานธี (อังกฤษ: Mahatma Gandhi)เป็นผู้นำและนักการเมืองที่มีชื่อเสียงชาวอินเดียและศาสนาฮินดู
มหาตมา คานธี'มีชื่อเต็มว่า โมหันทาส กะรัมจันท คานธี (คุชราต: મોહનદાસ કરમચંદ ગાંધી; อังกฤษ: Mohandas Karamchand Gandhi) เกิดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 1869 ในแคว้นคุชราตทางทิศตะวันตกของอินเดีย มารดาของคานธี เป็นภรรยาคนที่ 4 ของบิดาของคานธี
  • ค.ศ. 1883 เดือนพฤษภาคม คานธีมีอายุ 13 ปี ได้สมรสกับเด็กหญิงชื่อกัสตูรพา ซึ่งอายุมากกว่าคานธีประมาณ 6 เดือน ซึ่งสาเหตุที่คานธีสมรสเร็วนั้น มาจากประเพณีท้องถิ่นที่นิยมให้เด็กแต่งงานกันเร็วๆ คานธีมีความสุขกับชีวิตคู่มาก คานธีและกัสตูรพามีบุตร-ธิดา รวมกันทั้งสิ้น 5 คน แต่คนหนึ่งเสียชีวิตลงตั้งแต่ยังเป็นทารก ทำให้เหลือ 4 คน
  • ค.ศ. 1888 เป็นปีที่บุตรคนแรก (ไม่นับคนที่เสียชีวิตขณะเป็นทารก) ของคานธีได้ถือกำเนิดขึ้น และเป็นปีที่ทางครองครัว ได้ส่งคานธีไปศึกษาวิชากฎหมายที่อังกฤษ โดยก่อนจะเดินทาง คานธีได้ให้สัญญากับมารดาว่า จะไม่รับประทานเนื้อสัตว์และสุรา และจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับสตรี เพื่อให้มารดาได้อุ่นใจ แล้วเดินทางไปอังกฤษ
เมื่อไปถึงอังกฤษ คานธีพบปัญหาใหญ่ในการดำเนินชีวิตในอังกฤษ นั่นคือ วัฒนธรรม มารยาท สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในอังกฤษนั้นไม่เหมือนอินเดีย คานธีต้องระวังตนในเรื่องมารยาทซึ่งจะมาทำตามคนอินเดียเหมือนเดิมไม่ได้ คานธีต้องปรับตัวบุคลิกต่างๆให้เข้ากับคนอังกฤษให้ได้ และนอกจากนี้ อาหารในอังกฤษที่ไม่ใช่เนื้อสัตว์ในสมัยนั้นรสชาติจืดมาก จะกินเนื้อสัตว์ก็ไม่ควรเพราะได้ให้สัญญากับมารดาไว้แล้ว
ปัญหาด้านอาหารนั้นทุเลาลงเมื่อคานธีได้รู้จักอาหารมังสวิรัติ และได้ซื้อหนังสือคู่มือสำหรับนักมังสวิรัติเข้า คานธีจึงได้มีวิธีรับประทานมังสวิรัติอย่างเป็นสุขในอังกฤษ ส่วนมารยาทและวัฒนธรรมก็ต้องค่อยๆปรับตัวไป และในที่สุดคานธีก็สำเร็จการศึกษาและสอบได้เป็นเนติบัณฑิต และเมื่อได้เป็นเนติบัณฑิตแล้ว คานธีก็เดินทางกลับสู่อินเดียใน ค.ศ. 1892 เพื่อประกอบอาชีพ
ในปีเดียวกันคานธีกลับมา ลูกคนที่สองของคานธีก็กำเนิดขึ้น แต่ในด้านอาชีพ แม้จะประสบความสำเร็จในการศึกษา แต่การประกอบอาชีพในช่วงแรกของคานธีนั้นประสบความยากลำบาก แต่แล้ว ไม่นานต่อมา คานธีก็ได้งานชิ้นหนึ่งซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้คานธีกลายเป็นนักการเมืองที่มีชื่อเสียงโด่งดังในเวลาต่อมา
งานนั้นคือ ให้ไปเป็นทนายว่าความให้ลูกความในประเทศแอฟริกาใต้ ดังนั้น ใน ค.ศ. 1893 คานธีได้เดินทางไปประเทศแอฟริกาใต้ โดยเมื่อเดินทางไปถึง คานธีได้ซื้อตั๋วรถไฟชั้น First Class (ชั้นที่หรูหราสะดวกสบายที่สุด ค่าตั๋วแพงที่สุด) ไปยังเมืองที่ลูกความต้องการ แต่ทว่า ผู้โดยสารชั้น First Class ที่ผิวขาว ไม่พอใจที่คนผิวคล้ำอย่างคานธีมาอยู่ร่วมชั้น First Class กับพวกเขา จึงไปประท้วงบอกเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่จึงเดินมาสั่งให้คานธีย้ายตู้โดยสารไปโดยสารตู้ของ Third Class (ชั้นไม่สะดวก ไม่หรูหรา แต่ค่าตั๋วถูกที่สุด) ทั้งๆที่คานธีเสียเงินซื้อตั๋ว First Class มาอย่างถูกต้อง คานธีจึงปฏิเสธ ทำให้ความขัดแย้งในรถไฟชั้น First Class รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุด คานธีก็ถูกเจ้าหน้าที่รุมทำร้าย และคานธีถูกผู้โดยสารผิวขาวโยนออกมาจากรถไฟ โดยเจ้าหน้าที่ต่างอ้างว่า รถไฟชั้นหนึ่งนี้สร้างสำหรับผู้โดยสารผิวขาวเท่านั้น
เหตุการณ์นี้ทำให้คานธีเศร้าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง และยิ่งเศร้ามากยิ่งขึ้นเมื่อรู้ว่าชาวผิวคล้ำเกือบทุกคนถูกเหยียดหยามจากชนผิวขาวในแอฟริกาใต้ นับแต่นั้น คานธีก็ได้เข้าต่อสู้เรียกร้องสิทธิมนุษยชนของชาวผิวคล้ำในแอฟริกาใต้ และเมื่อคานธีรู้ว่าการต่อสู้ครั้งนี้ไม่จบง่ายๆ จึงได้เดินทางไปอินเดียใน ค.ศ. 1896 เพื่อพาครอบครัวมาอยู่ด้วยกันที่แอฟริกาใต้ และกลับสู่อินเดียใน ต้นปี ค.ศ. 1897 และใช้ชีวิตครอบครัวต่อจนมีลูกกับภรรยาต่ออีก 2 คน

[แก้] เรียกร้องความเป็นธรรม

  • ค.ศ. 1901 คานธีเดินทางกลับอินเดียเพื่อกลับไปประกอบอาชีพต่อ แต่มีเสียงเรียกร้องจากชาวอินเดียในแอฟริกาใต้ให้มาช่วยด้วย คานธีเดินทางกลับไปยังแอฟริกาใต้เพื่อต่อสู้กับปัญหานี้ต่อใน ค.ศ. 1902 แต่ว่า การต่อสู้ของคานธีเมื่อครั้งก่อนนั้นให้ผลไม่ดีเท่าไรนัก ดังนั้นในครั้งนี้ คานธีใช้วิธี "สัตยาเคราะห์" ซึ่งคือ การไม่ร่วมมือในกฎที่ไม่ยุติธรรม โดยไม่มีการใช้กำลัง ซึ่งวิธีนี้ได้ผลดีมาก ทำให้คานธีรู้ว่าการประท้วงโดยไม่ใช้กำลังนั้นให้ผลดีกว่าที่คิด จึงพบวิธีที่แน่นอนและได้ผลดีในการเรียกร้องความยุติธรรม โดยคานธีได้อยู่เรียกร้องความยุติธรรมนี้จนถึง ค.ศ. 1914 ก็เดินทางออกจากแอฟริกาใต้
  • ค.ศ. 1915 คานธีเดินทางกลับมาถึงอินเดียที่เมืองบอมเบย์ คานธีตัดสินใจละทิ้งการแต่งกายแบบตะวันตกดังที่เคย และหันมาแต่งกายด้วยเสื้อผ้าแบบดั้งเดิมของแคว้นคุชราต และเมื่อเดินทางกลับมาถึง ชาวอินเดียจำนวนมากไปชุมนุมต้อนรับคานธีกลับบ้านอย่างล้นหลาม ไม่กี่วันต่อมา คานธีเดินทางไปหา รพินทรนาถ ฐากุร มหากวีแห่งอินเดีย และรพิทรนาถนี้เอง ได้ขนานนามคานธีว่า "มหาตมา" อันแปลว่า ผู้มีจิตใจสูงส่งให้แก่คานธี เป็นคนแรก และหลังจากนั้น คานธี ได้เดินทางไปทั่วประเทศอินเดีย เพื่อจะได้ไปรู้เห็นความเป็นจริงในอินเดียอย่างรู้จริงเป็นเวลารวม 1 ปี
  • ค.ศ. 1916 คานธีเริ่มก่อกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้แก่ประชาชนอินเดีย และเรียกร้องโดยวิธีขอความร่วมมือผนึกกำลังคนละเล็กคนละน้อยจนเป็นพลังที่สั่นประเทศได้ ประกอบกับในช่วงนั้น อินเดียเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ทำให้ต้องมีการเรียกร้องสิทธิที่อังกฤษพยายามกดขี่ชาวอินเดีย
  • ค.ศ. 1919 ได้มีการประกาศกฎหมาย Rowlatt ซึ่งเป็นกฎหมายที่กดขี่ชาวอินเดีย คานธีจึงประกาศขอความร่วมมือว่าในวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 1919 ขอความร่วมมือให้คนอินเดียหยุดงาน แล้วประชาชนเป็นล้านๆ คนก็หยุดงานในวันนั้น สั่นคลอนอำนาจรัฐบาลอังกฤษอย่างชัดเจน คานธีรู้สึกอัศจรรย์ แต่ไม่นานก็พบข้อเสียของการใช้วิธีสัตยาเคราะห์ กับสังคมขนาดใหญ่ๆ อย่างอินเดีย
ข้อเสียนั้นคือ มีบางแห่งที่บานปลายเกิดการต่อสู้ใช้กำลัง รัฐบาลอังกฤษจึงใช้เป็นข้ออ้างในการจับกุมตัวคานธีไป แต่เมื่อคานธีถูกจับกุม เมืองต่างๆก็เกิดความเคียดแค้นและวุ่นวายจนเกือบกลายเป็นเหตุจราจลระดับประเทศ ซึ่งหลังคานธีได้รับอิสระในวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1919 และได้รับรู้เหตุการณ์ที่เกิดบานปลายนี้ คานธีรู้สึกเสียใจมาก จึงประกาศอดอาหารตนเอง 3 วัน
แต่ในวันนั้นเอง เป็นวันนักขัตฤกษ์ของอินเดีย ประชาชนนับพันคนไปรวมตัวสังสรรค์กันที่สวนสาธารณะชัลลียันวาลา เมืองอมฤตสระ แต่ว่า ในวันนั้น นายพล Dyer ผู้บังคับบัญชากองทหารอังกฤษในอมฤตสระ รู้สึกเคียดแค้นชาวอินเดีย และต้องการให้ชาวอินเดียรู้ถึงอานุภาพอังกฤษ จึงออกคำสั่งให้กองทัพรัวปืนใส่กลุ่มประชาชนในชัลลียันวาลา ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 1,500 ศพ บาดเจ็บประมาณ 3,000 คน เป็นปฏิบัติการทางทหารที่ทำให้รัฐบาลอังกฤษเสื่อมเสียเกียรติยศอย่างยากจะฟื้นตัว
  • ค.ศ. 1922 ได้เกิดเหตุใช้กำลังต่อสู้กันอีกครั้ง คานธีถูกจับกุมอีกครั้งในฐานะผู้ก่อความไม่สงบ และถูกศาลตัดสินจำคุก 6 ปี แต่ถูกปล่อยตัวออกมาก่อนกำหนดเพราะเหตุผลทางสุขภาพใน ค.ศ. 1924 และตั้งแต่ถูกปล่อยตัว คานธีก็หันไปแก้ไขปัญหาที่เกิดจากภายในประเทศก่อน เช่น ฟื้นฟูเศรษฐกิจชนบท แก้ไขปัญหาการถือชนชั้นวรรณะในอินเดีย ปัญหาความขัดแย้งระหว่างศาสนาฮินดูกับมุสลิม ปัญหาความไม่เสมอภาคของสตรี และปัญหาต่างๆ ที่ไม่ได้เกิดจากการกดขี่จากต่างประเทศ

[แก้] ประท้วง

  • ค.ศ. 1930 คานธีหวนกลับสู่สังเวียนการเมืองอันเร่าร้อน เพราะต้องการประท้วงกฎหมายอังกฤษที่ห้ามคนอินเดียทำเกลือกินเอง เป็นสิ่งที่ไม่สมควรที่จะไม่ให้คนอินเดียใช้ทรัพยากรของอินเดีย โดยในวันที่ 12 มีนาคม คานธีได้เริ่มการเดินทางไปยังชายทะเลในตำบลฑัณฑี พร้อมกับประชาชนนับแสนคนที่เต็มใจไปกับคานธี คานธีเดินทางเป็นเวลา 24 วัน 400 กิโลเมตร ก็ไปถึงชายทะเล คานธีบอกประชาชนนับแสนให้ร่วมกันทำเกลือกินเอง ดังนั้น ในวันนั้น คานธีและประชาชนนับแสนได้ทำเกลือจากทะเลกินเอง เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่อังกฤษตั้งไว้
ทางการอังกฤษ ได้ดันทุรังจับกุมคานธีและประชาชนนับแสนคนในวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1930 ทำให้จำนวนแรงงานอาชีพในอินเดียหายไปเป็นจำนวนมาก ทำให้ระบบเศรษฐกิจและระบบบริหารงานของรัฐบาลอังกฤษเกิดความปั่นป่วนอย่างใหญ่หลวง จนกระทั่งต้องปล่อยตัวประชาชนออกมาเรื่อยๆ และรัฐบาลอังกฤษได้ปล่อยตัวคานธีใน ค.ศ. 1931 และในปีนั้น คานธีถูกเชิญตัวไปร่วมประชุมหารือกับรัฐบาลอังกฤษ โดยมีนายกรัฐมนตรีอังกฤษในขณะนั้นเป็นประธาน การประชุมครั้งนี้ไม่ได้ผลอะไรมากนัก
เมื่อคานธีกลับอินเดีย ก็ถูกจับอีก และก็ถูกปล่อยตัวอีก และหลังถูกปล่อย ก็ใช้เวลาไปพัฒนาชนบทอีก จนเมื่อ ค.ศ. 1939 ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็กลับเข้าสู่วงการเมืองอีก มีการเดินขบวนรณรงค์ แล้วก็ถูกจับใน ค.ศ. 1942 อีก แต่ครั้งนี้ ระหว่างอยู่ในคุก กัสตูรบา ภรรยาคานธีได้เสียชีวิตลงใน ค.ศ. 1944 แล้วสักพักก็ถูกปล่อยตัว
  • ค.ศ. 1945 ได้มีการเลือกตั้งทั่วไปในอังกฤษ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ประกาศจะให้อินเดียได้ปกครองตนเอง นับเป็นการที่อิสระของอินเดียอยู่แค่เอื้อมแล้ว แต่ว่า ก่อนจะให้อิสระอินเดีย อังกฤษต้องหารัฐบาลชาวอินเดีย ที่จะปกครองอินเดียต่อจากอังกฤษในช่วงแรกๆของการมีอิสระครั้งของอินเดียในยุคแห่งเทคโนโลยี แต่ทว่า ไม่สามารถตกลงกันได้ว่าระหว่างพรรคคองเกรส (ที่นับถือศาสนาฮินดู) กับสันนิบาตมุสลิม ใครจะมาปกครอง การให้อิสระอินเดียจึงต้องล่าช้าออกไป

[แก้] ความขัดแย้ง

  • ค.ศ. 1946 ได้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวมุสลิมและฮินดูในอินเดีย จนเกิดเป็นเหตุนองเลือดรุนแรงไปทั่วทุกหัวระแหง คานธีรู้สึกเสียใจมาก ที่อิสรภาพของอินเดียอยู่แค่เอื้อม แต่ยังไม่ทันได้อิสรภาพ ชาวอินเดียก็ทะเลาะกันเองเสียนี่ คานธีจึงได้หอบสังขารวัย 77 ปี ลงเดินเท้าไปยังภูมิภาคต่างๆในอินเดีย เพื่อขอร้องให้ชาวอินเดียหันมาสามัคคีกัน หยุดทะเลาะกันเสียที ประชาชนอินเดียเห็นคานธีทำเช่นนี้ก็รู้สึกตัว เลิกทะเลาะกัน ทำให้เกิดความสงบสามัคคีในชนบทได้
เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1947 ได้มีการเจรจาตกลงระหว่างพรรคคองเกรสกับสันนิบาตมุสลิม โดยได้ผลสรุปคือ เมื่ออินเดียได้รับเอกราช จะแบ่งประเทศเป็น 2 ส่วน โดยให้พื้นที่ที่คนส่วนใหญ่เป็นคนฮินดู เป็นประเทศอินเดียของพรรคคองเกรส แล้วพื้นที่ที่คนส่วนใหญ่เป็นคนมุสลิม ให้เป็นประเทศปากีสถาน ปกครองโดยสันนิบาตมุสลิม

[แก้] อินเดียเป็นอิสระ

  • 15 สิงหาคม ค.ศ. 1947 อินเดียเป็นอิสระจากอังกฤษโดยสมบูรณ์ และในวันนั้น อินเดีย ก็แตกเป็น 2 ประเทศ คืออินเดียของชาวฮินดู กับปากีสถานของมุสลิม แต่ว่า ท้องที่ๆ คนส่วนใหญ่เป็นศาสนาหนึ่ง ก็ใช่ว่าจะไม่มีคนอีกศาสนาหนึ่งอาศัยอยู่เลย ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในอาณาเขตประเทศที่เป็นท้องที่ที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาตรงข้าม ก็ต้องอพยพ กล่าวคือ ผู้ที่เป็นมุสลิมในอินเดีย ก็ต้องอพยพไปปากีสถาน และผู้ที่เป็นฮินดูในปากีสถาน ก็ต้องอพยพมาอินเดีย ในวันนั้น ทั้งสองประเทศ จัดงานฉลองอิสรภาพครั้งใหญ่ แต่คานธีไม่เข้าร่วมพิธีฉลองอิสรภาพ แต่ได้เดินทางไปยังกัลกัตตา เพราะได้ข่าวว่ามุสลิมและฮินดูยังรบสู้กันอยู่ คานธีเดินทางไปถึงที่กัลกัตตา และขอร้อง แต่ไม่เป็นผล จึงประกาศอดอาหารอีก ครั้งนี้ได้ผล มุสลิมและฮินดูในกัลกัตตาเลิกรบกันทันที และให้สัญญาว่าจะไม่มีการรบแบบนี้เกิดอีก คานธีจึงเดินทางกลับเมืองหลวงนิวเดลฮี
  • 13 มกราคม ค.ศ. 1948 คานธีต้องการไปปากีสถาน เพื่อสมานฉันท์กับชาวมุสลิม ทั้งๆที่คานธีเป็นฮินดู สันนิบาตมุสลิมจึงคัดค้านการเข้าปากีสถานของคานธี เพราะเกรงจะเกิดอันตราย คานธีจึงประกาศอดอาหารอีกครั้ง เพื่อสมานฉันท์ระหว่างมุสลิมกับฮินดู
  • 18 มกราคม ค.ศ. 1948 องค์กรประชาชนในนิวเดลฮีให้คำมั่นว่า จะพิทักษ์รักษาชีวิต ทรัพย์สิน และศาสนาของชาวมุสลิมอย่างเต็มที่ คานธีจึงกลับมากินอาหารอีกครั้ง

[แก้] การเสียชีวิต

วันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1948 ในตอนเย็น ขณะที่คานธีอยู่กลางสนามหญ้า กำลังสวดมนต์ไหว้พระตามกิจวัตร ขณะที่คานธีกำลังพูดว่า "เห ราม" แปลว่า "ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า"
นาถูราม โคทเส ชาวฮินดูผู้คลั่งศาสนา ไม่ต้องการให้ฮินดูสมานฉันท์กับมุสลิม ได้ยิงปืนใส่คานธี 3 นัด จนคานธีล้มลง และเมื่อแพทย์ได้มาพบคานธี ก็พบว่า คานธีได้สิ้นลมหายใจแล้วในวัย 78 ปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น