เพื่อความสุขสนุกสนาม กับการชมบล็อก

วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554

คนประจวบฯ ยันค้าน “โรงไฟฟ้าถ่านหิน” ไม่เอา “พลังงานทดแทน” หมกเม็ด

ความขัดแย้งรอบใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จากกรณีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมจัดสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังการผลิต 4,000 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ อ.ทับสะแก แม้ขณะนี้โครงการดังกล่าวยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ แต่การที่ กฟผ.ได้จัดซื้อที่ดิน 4,142 ไร่ไว้แล้ว ได้ปลุกกระแสการต่อต้านจากกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่รวมทั้งชาวบ้าน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่เคยร่วมกันคัดค้านโรงไฟฟ้าบ้านกรูด-บ่อนอก ขึ้นมาอีกครั้ง

วันที่ 11 ก.ย.54 เวทีรับฟังความคิดเห็น “ทางเลือกการจัดการพลังงาน: กรณีอำเภอทับสะแก ประจวบคีรีขันธ์” โดย สถาบันการศึกษาทางเลือก ร่วมกับ มูลนิธิไฮริคเบิลล์ ที่ศาลาประชาคม อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเปิดรับฟังข้อมูลและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ โดยมีชาวบ้านทั้งจาก อ.ทับสะแก อ.บ้านกรูด อ.บ่อนอก อ.บางสะพาน ข้าราชการ และหน่วยงานส่วนท้องถิ่น สนใจเข้าร่วมกว่า 800 คน


เผยเป้าหมายร่วม “แผนพัฒนาประจวบฯ” ไม่มีอุตสาหกรรมเหล็ก

น.ส.สุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้จังหวัดประจวบฯ มีแผนพัฒนาจังหวัด 2555-2558 ที่ว่า “ท่องเที่ยวอย่างมีคุณค่า สับปะรดและมะพร้าวเป็นที่หนึ่งของโลก และสังคมแห่งมิตรไมตรี” โดยเป็นจุดหมายร่วมของชาวบ้านกับส่วนราชการที่จะมีการนำมาใช้ในปีหน้า คาดว่าจะทำให้พื้นที่มีความสงบสุข โดยเน้นการใช้เศรษฐกิจ 3 ขา ประกอบด้วย การเกษตร การทำประมง และการท่องเที่ยว เนื่องจากจังหวัดประจวบฯ เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งเป็นแหล่งวางไข่ปลาทู มีฉลามวาฬมาหากินห่างชายฝั่งบ้านกูดและทับสะแกเพียง 25 เมตร อีกทั้งยังมีการสำรวจพบว่าชายหาดทับสะแกเป็นที่แรกที่เต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ริมชายฝั่ง

ส่วนในภาคอุตสาหกรรม ตัวเลขปี 2550 อุตสาหกรรมเหล็กทำรายได้เข้าสู่จังหวัดกว่า 6,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 78 ของรายได้ในภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด 8,000 กว่าล้านบาท แต่รายได้ดังกล่าวกระจุกตัวอยู่เฉพาะในอุตสาหกรรมเหล็ก และขณะที่อุตสาหกรรมเหล็กใช้เงินลงทุนถึง 23,700 ล้านบาท คิดเป็นร้อย 76 ของสัดส่วนเงินลงทุนในจังหวัด แต่มีการจ้างงานเพียง 2,600 คน ในขณะที่การจ้างงานในจังหวัดประจวบอีกกว่า 125,000 คนอยู่ในภาคการผลิตอื่นๆ

น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวต่อมาถึงการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) ว่า อุตสาหกรรมเหล็กเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้าสิ้นเปลือง โดยใช้พลังงานถึงร้อยละ 33.1 ของผลผลิต ขณะที่อุตสาหกรรมผลไม้กระป๋องใช้พลังงานร้อยละ 7.4 ของผลผลิต อีกทั้งมีข้อมูลระบุด้วยว่า เครือสหวิริยาเจ้าของโครงการโรงถลุงเหล็กบางสะพานได้เคยแสดงความจำนงใช้ไฟฟ้าถึง 2,000 เมกะวัตต์ ต่อกระทรวงพลังงาน ทำให้ถูกนำไปอ้างเป็นเหตุผลความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นและเกิดการผลักดันการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่

สำหรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่จังหวัดประจวบฯ น.ส.สุรีรัตน์ ให้ข้อมูลว่า อ.ทับสะแกใช้ไฟฟ้าเพียง 5 เมกะวัตต์ ส่วนอำเภอที่ใช้ไฟฟ้าสูงสุด คือ อ.บางสะพาน อ.สามร้อยยอด และ อ.บางสะพานน้อยตามลำดับ โดยกลุ่มที่ใช้ไฟฟ้าสูงสุดคืออุตสาหกรรมและธุรกิจ ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าชาวบ้านไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้ต้องสร้างโรงไฟฟ้าในประจวบฯ แต่กลับมีแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 3 แห่ง และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีก 1 แห่งในพื้นที่

“เราจะรอดจากมลพิษได้อย่างไร เมื่อโรงไฟฟ้าถ่านหินถูกระบุว่าเป็นโรงไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดมลพิษมากทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากที่สุด” น.ส.สุรีรัตน์ กล่าว พร้อมย้ำว่า ในโลกนี้ไม่มีถ่านหินสะอาด เพราะไม่ว่าถ่านหินลิกไนต์ หรือถ่านหินบิทูบินัส ต่างก็มีมลพิษเหมือนกัน เพียงแต่ให้ความร้อนต่างกันเท่านั้น


ข้องใจ ที่ 4,142 ไร่ ไม่สร้างโรงไฟฟ้า แต่ไม่แจงการใช้ประโยชน์

สุรีรัตน์ กล่าวถึงโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทับสะแกว่า ขณะนี้มีการจัดซื้อที่ดินไว้แล้ว 4,142 ไร่ แต่ทาง กฟผ.กลับให้ข้อมูลกับทางจังหวัดและหน่วยราชการว่ายังไม่มีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่โดยระบุว่าไม่มีการบรรจุไว้ในแผน PDP และล่าสุด กฟผ.มีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 5 เมกะวัตต์ บนพื้นที่ 250 ไร่ ซึ่งคิดเป็นพื้นที่เพียงร้อยละ 6 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยไม่มีการชี้แจงแผนการใช้ที่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด ทำให้เกิดคำถามถึงความโปร่งในการดำเนินโครงการดังกล่าว

“โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์คือการจัดฉากของ กฟผ.เพื่อการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน” สุรีรัตน์ กล่าว

ส่วนนางจินตนา แก้วขาว กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด ตั้งข้อสังเกตจากข้อมูลในบันทึกความเข้าใจร่วมที่จัดทำโดย กฟผ.ซึ่งส่งถึงแกนนำชาวบ้านว่า โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นเพียงข้ออ้างเพื่อให้ กฟผ.สามารถทำการปิดล้อมที่ดินทั้งหมดให้เป็นเขตห้ามเข้า และทำการสำรวจพื้นที่จัดทำโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ จากนั้นจะมีการดำเนินงานมวลชนสัมพันธ์ รวมทั้งทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเต็มรูปแบบของโรงไฟฟ้าถ่านหิน เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 5 เมกะวัตต์ ไม่จำเป็นต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม

นางจินตนา กล่าวด้วยว่า หากโรงไฟฟ้าถ่านหินตั้งขึ้นที่ทับสะแกซึ่งอยู่ห่างบ้านกูดทางถนนเพียง 12 กิโลเมตร และทางชายหาดเพียง 9 กิโลเมตร การขนลำเลียงถ่านหิน การชักน้ำเข้าหล่อเย็นในโรงไฟฟ้า หรือกิจกรรมต่างๆ ของโรงไฟฟ้าย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงกัน ในวันนี้ประชาชนในพื้นที่มีการกำหนดแล้วว่าจะเดินไปทางไหน และจะร่วมกันคัดค้านโรงไฟฟ้าทั้งที่ทับสะแก บ่อนอก และบ้านกรูด

นอกจากนั้น จินตนายังเสนอต่อที่เวทีรับฟังความคิดเห็นให้ระงับโครงการทับสะแกทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จนกว่าจะมีการทำข้อตกลงว่าที่ดิน 4,142 ไร่ ของ กฟผ.จะถูกนำไปทำอะไรบ้าง ซึ่งชาวบ้านต่างยกมือเห็นด้วย


ชี้ข้ออ้างสร้าง “โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์” มุขเก่า

ด้าน นางกรณ์อุมา พงษ์น้อย กลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก กล่าวว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มีนัยยะที่เกี่ยวพันธ์กัน เพราะจากประสบการณ์ของบ่อนอกกลุ่มทุนก็ใช้วิธีการเดียวกันโดยให้สัมภาษณ์ว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่บ่อนอก แต่พื้นที่ที่ใช้เป็นเศษเสี้ยวของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ดังนั้นขอให้ยืนยันให้ กฟผ.เคลียร์ให้ได้ว่าพื้นที่ไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จะสร้างอะไร

นางกรณ์อุมา กล่าวด้วยว่า วันนี้ยืนยันว่าไม่มีปัญหากับการสร้างโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ตามที่มีการส่งเสริมเรื่องการพัฒนาพลังงานทดแทน เพราะพื้นที่บ่อนอกตอนนี้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 1 เมกะวัตต์ ใช้พื้นที่ 20 ไร่ ซึ่งชาวบ้านยินดีหากการก่อสร้างไม่มีเลศนัย

นอกจากนั้น การเปิดเวทีให้ประชาชนร่วมกันแสดงความคิดเห็น ผู้เข้าร่วมต่างหวั่นเกรงว่าหาก กฟผ.ใช้พื้นที่ริมชายหาดทับสะแกเป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินจะมีผลกระทบเกิดขึ้นในอนาคตทั้งต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และการสูญเสียอาชีพ และมีการตั้งข้อสังเกตว่าการสร้างโรงไฟฟ้าเป็นไปเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็ก

อีกทั้งยังมีการกล่าวว่า การสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มอาจไม่จำเป็น เพราะที่ผ่านมาไฟฟ้าในระบบเหลือเกินมาตลอด และกลายเป็นภาระให้ชาวบ้านต้องจ่ายส่วนที่เพิ่มขึ้นในค่าเอฟพี หรือหากจำเป็นต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้า ชาวบ้านขอเลือกโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ หรือพลังงานลม ที่เป็นพลังงานหมุนเวียน ไม่ต้องแย่งชิงเชื้อเพลิงใต้โลกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

นักวิชาการฯ หนุนเปลี่ยนพื้นที่โรงไฟฟ้า เป็นแหล่งผลิตพลังงานทดแทน

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของภาคใต้รวม จ.ประจวบฯ ทั้ง 15 จังหวัด อยู่ที่ประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ หากมีการเติบโต ความต้องการอีก 20 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ 6,000 เมกะวัตต์ แต่แผนพัฒนาพลังงานตั้งไว้ที่ 12,000 เมกะวัตต์ ซึ่งแน่ชัดว่าตัวเลขนี้เป็นการเพิ่มเพื่อต้องการรองรับอุตสาหกรรมเหล็ก หรืออุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่จะย้ายจากภาคตะวันออกมาลงที่ภาคใต้ ทั้งนี้ ล่าสุดนักวิชาการและภาคประชาชนในภาคใต้ได้ร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาของภาคใต้ โดยใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก ซึ่งใน จ.ชุมพร และ จ.กระบี่ ได้เริ่มแล้วโดยใช้พลังงานหมุนเวียนมากกว่าครึ่งหนึ่งของพลังงานที่ใช้จริงในจังหวัด ทั้งนี้ ตัวเลขพลังงานส่วนที่เกินความต้องการปกติ เป็นสิ่งที่คนใต้ต้องตัดสินใจว่าจะยอมรับการพัฒนานั้นหรือไม่

ส่วนแผนอนุรักษ์พลังงาน ระยะยาว 20 ปี (2554-2573) ดร.เดชรัต มีเป้าจะลดความต้องการใช้ไฟฟ้าได้กว่า 12,000 เมกะวัตต์ และช่วยให้ประเทศไทยประหยัดงบประมาณได้กว่าหนึ่งล้านล้านบาท เท่ากับว่าสามารถยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน 9 โรง (7,200 เมกะวัตต์) บวกกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 โรง (5,000 เมกะวัตต์) ตามแผนพีดีพี2010 ดังนั้นจึงควรส่งเสริมรัฐบาล กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตามแผนดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมให้บรรลุตามเป้าหมาย

ดร.เดชรัต กล่าวต่อมาถึงข้อห่วงใยต่อการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ กฟผ.ว่า 1.การก่อสร้างใช้พื้นที่น้อย เพียงร้อยละ 6 ของพื้นที่ทั้งหมด 2.พื้นที่ก่อสร้าง 250 ไร่ อยู่ตรงไหนของพื้นที่ 4,124 ไร่ โดยพื้นที่ที่เหลือสามารถสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้สบายโดยเฉพาะหากเป็นที่ติดชายฝั่ง 3.การทำบันทึกข้อตกลงร่วม เพราะโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไม่ต้องทำอีไอเอ และที่ผ่านมา กฟผ.มีปัญหาการลงพื้นที่เพื่อทำข้อมูล จึงมีความเป็นไปได้ที่จะนำสู่การทำอีไอเอเต็มรูปแบบสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินได้

ดร.เดชรัต กล่าวด้วยว่า ข้อเสนอที่จะเปลี่ยนพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าของ กฟผ.ให้เป็นแหล่งผลิตพลังงานทดแทน น่าสนใจมาก เพราะมีศักยภาพที่จะจัดการได้ถึง 100 เมกะวัตต์ ยิ่งเมื่อใช้เป็นแหล่งวิจัยจะสามารถพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีเพื่อนำไปพัฒนาในที่อื่นได้ด้วย ทั้งนี้ จากประสบการณ์ที่ได้ทำร่วมกับรีสอร์ทแห่งหนึ่งพบว่า พื้นที่ 50 ไร่ ก็สามารถเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านพลังงาน และการท่องเที่ยวไปด้วยได้

อย่างไรก็ตาม อยากให้เปลี่ยนเทียบการใช้ประโยชน์ในพื้นที่กับของ กฟผ.ว่าอะไรที่จะให้ผลตอบแทนแก่สังคมได้มากกว่ากัน ตรงนี้เป็นสิ่งที่น่าจะทำต่อไป

ดร.เดชรัต เสนอด้วยว่า การตัดสินใจของพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญ โดยการใช้อำนาจตามกฎหมายขององค์กรปกครองท้องถิ่น เช่นที่ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎรธานี ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายหนึ่งในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อป้องกันโครงการที่เข้ามาในพื้นที่ ซึ่งทำได้ 2 ลักษณะ คือเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดิน และการดำเนินโครงการที่เป็นผลกระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม

บอร์ด กฟผ.ชี้ต้องตั้งคำถามต้องไปถึงนโยบายรัฐฯ ด้วย

ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (บอร์ด กฟผ.) กล่าวถึงประสบการณ์ว่า ในแง่ผู้บริหารระดับสูงของ กฟผ.จะดูแลในแง่นโยบายว่าได้ตามเป้าหมายหรือเปล่า และส่วน กฟผ.เองก็รับลูกนโยบายจากรัฐบาลอีกที ดังนั้น ต้องตั้งคำถามกับรัฐบาลด้วยว่าเห็นดีเห็นงามกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไปกระทบกับวิถีชีวิตหรือเปล่า การคิดต้นทุนค่าไฟฟ้านั้นคิดแต่ค่าถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ หรือคิดค่าสูญเสียวิถีชีวิตของผู้คนร่วมด้วย เรื่องนี้ต้องตั้งคำถามให้ครบวงจร ทั้งกระทรวง และรัฐบาลว่าได้จะชดเชย หลีกเลี่ยงอย่างไร หรือไม่ควรสร้าง

“ส่วนตัวที่มามารับฟังเพราะคิดว่าหลายเรื่องตรงกับที่ส่วนตัวคิด แต่อาจไม่ตรงกับผู้ใหญ่หลายท่าน ส่วนที่ถามว่า กฟผ.รู้ข้อมูลไหม ส่วนตัวเองยังต้องยอมรับว่ารู้เรื่องนี้น้อยมาก เหมือนได้มาเข้าห้องเรียน ต้องรู้ว่าผู้บริหารใกล้ชิดฝ่ายเทคนิคมาก ต้องฟังฝ่ายเทคนิค เรื่องปฏิกิริยาของชาวบ้าน กฟผ.อาจไม่รู้ได้ขนาดนี้”ดร.แลกล่าว

ดร.แล กล่าวด้วยว่า กฟผ.ต้องจับเขาคุยอย่างเปิดอก ในภาษาที่ชาวบ้านคุยรู้เรื่อง ในวันนี้ กฟผ.ต้องคุยกับชาวบ้านให้มากขึ้น เพราะต้องเข้าไปทำงานในพื้นที่ ในบ้านของชานบ้าน นอกจากนี้ งบประมาณกว่า 800 ล้านบาท สำหรับเพื่อทำดีต่อสังคมสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ แต่ควรคิดนอกกรอบซึ่งอาจดีกับชาวบ้านมากกว่า เพราะปัจจุบัน กฟผ.คิดแค่ในกรอบของ กฟผ.มากเกินไป

ส่วนข้อเสนอ ดร.แล กล่าวว่า ควรตั้งกรรมการมาพูดคุยกัน เพื่อเป็นทางออกที่ดีในการแก้ปัญหายุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศให้เข้าที่เข้าทาง เพราะยุทธศาสตร์การพัฒนาเป็นต้นเหตุ ส่วนโรงไฟฟ้าเป็นปลายเหตุ


ยื่นข้อเสนอ นายกฯ ค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน-หนุนพลังงานสะอาด

หลังจากเสร็จสิ้นเวทีการรับฟังความคิดเห็น น.ส.สุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก ได้ยื่นข้อเสนอจากเวทีทางเลือกการจัดการพลังงาน กรณีโรงไฟฟ้าทับสะแก ต่อนายนิรวัชช์ ปุณณกันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อผ่านไปถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น